Menu

Wednesday, October 3, 2007

Dear All Music Critics and Scrutinizers

เราไปอ่านๆใน Pantip แล้วเจอกระทู้ที่บอกว่า อยากให้มี "คลับจับผิดเพลง"
เราอ่านๆดูแล้วก็เลยเกิดอาการคันไม้คันมือ อยากเขียนอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ซะหน่อย
ก็เลยไปแตกประเด็นกระทู้เค้าซะ ... ใครอยากรู้อยากอ่านเข้าไปดูได้เลย ที่นี่
ส่วนคนที่ขี้เกียจไปตาม Link จะอ่านที่นี่ก็ได้นะ

======================================

ใครลอกใคร?? - การวิพากษ์วิจารณ์งานดนตรี

สืบเนื่องจากการที่มีคนคิดว่าศิลปินไทยมักไปลอกเลียนศิลปินต่างประเทศมา และอยากมีการถก การโต้แย้ง หรือ วิพากษ์วิจารณ์กัน

ส่วนตัวแล้ว ผมมีความคิดว่า ประเด็นที่สำคัญกว่าคือคนที่มาถกมาเปิดประเด็นดังกล่าว มีความรู้ความเข้าใจถึงทฤษฎีทางดนตรี และธรรมชาติของนักดนตรี รวมทั้งสภาพแวดล้อมของวงการดนตรีมากน้อยแค่ไหน และที่สุดแล้วเราต้องการอะไรจากการถกกันในประเด็นนี้กันแน่

ไม่ใช่จะบอกว่าจะต้องเป็นอาจารย์สอนดนตรี หรือโคต-รนักดนตรี หรือผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงไทย แต่ผมอยากให้เรามาโต้แย้งกันอย่างเข้าใจถึงพื้นฐานที่มาของงานเพลงหนึ่งๆ และเป็นการเปิดโลกทัศน์ในการฟังเพลงมากกว่าที่จะเป็นการพูดว่า ชอบหรือเกลียด ดีหรือเลว เพียงเพื่อความสะใจส่วนตัว เพื่อดูถูกความคิดของคนอื่น และที่แย่กว่าคือเพื่อไปดูถูกผลงานสร้างสรรค์ของศิลปิน

ที่มาที่ไปของเพลงที่เปิดตามวิทยุที่พวกเราเห็นกันน่าจะอธิบายง่ายๆได้แบบนี้:
ศิลปินคิด-เขียนเนื้อเพลงและดนตรี --> เรียบเรียง --> อัดเสียง --> โปรโมท --> ดัง/ดับ --> วิจารณ์

แต่ผมจะบอกว่า ระหว่างทางนั้นยังมีขั้นตอนยิบย่อย มีผู้คนมากมายเกี่ยวข้อง มีบทสนทนา มีการประชุม มีการตัดสินใจ มีการปรับเปลี่ยน มากอย่างที่เราไม่สามารถบรรยายได้เลย

และในของเหล่านั้น ก็ยังมีของที่สำคัญที่สุดในทุกขั้นตอนนั่นคือ "ความคิด"

ผมขอเปลี่ยนบริบทของหัวข้อนี้ชั่วคราว จากดนตรีเป็นการออกแบบ จากนักดนตรีเป็นนักออกแบบ จากงานดนตรีเป็นงานออกแบบ

ทีนี้ คุณสมบัติของนักออกแบบที่ดีคืออะไร?
คือการหมั่นเปิดหูเปิดตารับงานออกแบบจากแหล่งต่างๆอยู่เสมอ คือการค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เพื่อนำความคิดที่ได้จากการพบเห็นมาสังเคราะห์ให้เกิดเป็นความคิดในแบบของตนเอง และให้เหมาะสมกับโจทย์ของงานออกแบบที่ได้รับมา หรือที่ต้องการจะสื่อให้คนเข้าใจ

มันเป็นเรื่องแปลก(หรือ"ผิด")แค่ไหนที่งานออกแบบชิ้นหนึ่งจะไปคล้ายกับงานของอีกคนหนึ่ง
เป็นไปได้หรือเปล่าที่งานสองชิ้นจะเกิดจากกระบวนการคิดในรูปแบบที่คล้ายกัน
เป็นไปได้หรือเปล่าที่งานทั้งสองชิ้นเกิดจากพื้นฐานของโจทย์ที่งานนั้นต้องตอบรับเดียวกัน
และเป็นไปได้หรือเปล่า ที่ชิ้นงานนั้นมันถูกใช้สอยได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการออกแบบดังกล่าว

กลับมาที่งานดนตรีอีกครั้งด้วยพื้นฐานโครงสร้างแบบเดียวกัน นักดนตรี(หมายถึงนักดนตรีจริงๆ-ไม่ใช่คนร้องเพลงที่ถูกเรียกว่า"ศิลปิน")ย่อมมีความคิดหรือรูปแบบงานที่ต้องการสื่อออกมาให้คนฟังได้คิดและรู้สึกแบบเดียวกับตน ถ้าหากเรารู้วิธีที่เราจะสื่อเนื้อความของเราให้คนเข้าใจได้ดีที่สุด มันมีเหตุผลอะไรที่เราจะหลีกหนีจากวิธีการนั้น ทำไมเราต้องหลีกหนีจากความซื่อสัตย์ต่อตนเองเพียงเพราะเราไม่ต้องการที่จะซ้ำกับคนอื่น

แต่ในขณะเดียวกัน หากงานดนตรีที่ไม่มีความหมายที่จะสื่อออกมา ไม่มีโจทย์ที่ต้องการจะตอบ แต่ต้องถูก"ผลิต"ขึ้นมาเพียงเพื่อให้มีเพลงให้ครบ ให้มีเพลงโปรโมท ก็เท่ากับมันไม่มีแก่นที่เป็นจุดเริ่ม และที่พอจะทำได้ก็มีเพียงแค่หยิบยืมของที่มีอยู่แล้วในตลาดมาบวกกับเนื้อหาที่มีอยู่ดาษดื่นและคำที่ฟังดูดีไม่กี่คำเท่านั้นเอง

งานออกแบบที่ดีมันจะเกิดประโยชน์ตามที่มันถูกออกแบบมา ในขณะที่ของเลียนแบบไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่ อาจเกิดแตกหักเสียหาย หรือให้ภาพลักษณ์ที่ดูขัดหูขัดตา เพราะมันไม่ได้เกิดจาก"ความคิด" เช่นเดียวกันมันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะแยกแยะงานดนตรีที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากความคิดออกจากงานที่เพียงแค่ต้องการความเป็นที่นิยม

ผมเชื่อว่าจิตวิญญาณและความตั้งใจมันเป็นของที่เราสามารถสัมผัสได้ ถ้าหากเราลองฟังด้วยความเข้าใจ


หมายเหตุ:
- ผมเป็นคนที่เคยเรียนดนตรีมาบ้าง เคยเล่นดนตรี และเคยทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมดนตรีของประเทศเรา แต่ผมไม่ใช่นักดนตรีและไม่สามารถเรียกตัวเองอย่างนั้นได้แน่นอน
-ขออภัยที่เขียนซะยาว และขอบคุณผู้ที่อ่านจนจบ

======================================

ระหว่างที่เขียนไปก็ดู+ฟังเพลงสุดฮิต ณ วินาทีนี้ไปด้วย ได้อารมณ์มากๆ
ขออนุญาตละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

2 comments:

  1. เห็นด้วยอย่างมาก...

    และประเด็นในเรื่อง 'ดนตรี' นี้

    สามารถนำไปเทียบเคียงได้กับ 'ภาพยนตร์' ด้วย
    .
    .
    .

    เบื่อการจับผิดแบบโง่ๆ เช่นว่า ลอก/ไม่ลอก

    หรือ เหมือน/ไม่เหมือน เป็นต้น

    แต่ชื่นชมการวิจารณ์ใน 'ตัว' ของงานชิ้นนั้นๆ จริงๆ

    ReplyDelete