เมื่อก่อนเคยเรียนภาษาเยอรมันที่ Goethe Institut
ตอนนั้นเราก็ไปนั่งเรียนเรื่อยๆ อาจารย์ถามก็ตอบ ไม่งั้นก็นั่งเฉยๆไป
ก็จะมีคนวัยทำงานในทุกชั้นเรียนที่จะกระตือรือร้น คอยถาม คอยตอบทุกอย่าง
เราก็นั่งดูเค้าไป แล้วก็คิดว่า"ผู้ใหญ่"คงเป็นแบบนี้มั้ง (ตอนนั้นเราเป็นเด็กมัธยมอยู่)
ทุกวันนี้เราเรียนปริญญาโทอยู่ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
อายุเราก็อยู่ในวัยของ"ผู้ใหญ่"เมื่อหลายปีก่อนนั้นแล้ว แต่เราก็ยังนั่งนิ่งๆ
และพวกที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเราก็ยังคงคอยถาม คอยตอบ เหมือนแต่ก่อนทุกประการ
มองเผินๆอาจจะคิดได้ว่าเพราะเราเองที่เป็นคนไม่ถามไม่ตอบอะไรในชั้นเรียน
เรื่องที่น่าสังเกตคือ คนในกลุ่มอายุรุ่นๆเดียวกับเรา มีพฤติกรรมใกล้เคียงกันหมด (ยกเว้นเราเอง)
คือไม่ได้มีคนที่ดูกระตือรือร้นที่จะถามหรือจะตอบอาจารย์ในห้องเลย (ก็มีบ้าง แต่น้อยจริงๆ)
ทุกคนจะเกาะกันอยู่กับกลุ่มเพื่อนราวๆ 4-6 คนตลอดเวลา เวลาสงสัยอะไรจะกระซิบกระซาบกันเองก่อน
และหากในกลุ่มไม่มีคำตอบก็จะถามกลุ่มเพื่อนบ้านแทน ... แต่น้อยครั้งที่จะถามอาจารย์ในห้องเลย
ถามว่ามันเป็นเพราะอะไรกันนะ?
คงจะคิดกันได้ว่าสภาวะแวดล้อมทางการศึกษาจากระดับมัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัยน่าจะมีส่วนสำคัญ
ซึ่งมันก็จริงที่ส่วนใหญ่สถาบันการศึกษาไทยไม่ได้ให้อิสระในการคิดและโต้ตอบผู้สอนมากนัก
แต่ว่ามันต่างอะไรจากยุคของ"ผู้ใหญ่"เหล่านั้นล่ะ?
เพราะถ้าพูดกันจริงๆแล้ว สมัยของเราน่าจะมีระบบการเรียนการสอนที่ปรับปรุงแล้ว
ถ้ามองสิ่งที่เปลี่ยนไปจริงๆน่าจะเป็นโครงสร้างและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เราโตกันมามากกว่า
ในยุคก่อนการศึกษาดูจะเป็นเรื่องที่มีความหมายมาก เนื่องจากความแตกต่างทางการศึกษาของประชากรมีสูง
ดังนั้นผู้ที่มีความพยายามทางการศึกษาจะได้รับโอกาสและความสำเร็จมากกว่า ก่อให้เกิดแรงจูงใจ
แต่มาในยุคของเรา การศึกษากลายเป็นเรื่องที่มีไปทั่วถึงมากขึ้น ความแตกต่างทางโอกาสจึงลดลง
ถึงแม้มันจะส่งผลดีอย่างแน่นอนต่อประชาชน แต่มันทำให้เกิดลักษณะนิสัยของนักเรียนอีกแบบขึ้นมาแทน
คนในยุคของเราเกิดมาในช่วงเวลาที่มีทุกอย่างเพรียบพร้อม เศรษฐกิจโตเต็มที่ ควบคู่กับวัตถุนิยม
ปัจจัยที่เราหันไปให้คุณค่า (value) มากขึ้นเลยกลายเรื่องของอารมณ์
เราให้คุณค่ากับภาพลักษณ์ที่ปรากฏต่อสายตาคนอื่น มากกว่าคุณประโยชน์ที่เราจะได้รับจริง
ดังนั้นแล้ว เมื่อมาอยู่ในห้องเรียน ทัศนคติที่กลัวว่าจะถูกมองในแง่ลบจึงเกิดขึ้น (ไม่ยอมรับว่าไม่รู้)
ถามต่อไปว่ามันผิดรึเปล่า?
ก็คงจะไม่ หากเรารู้ว่าการสอบถามความรู้จากอาจารย์ผู้สอนไม่ใช่วิธีเดียวที่จะทำให้ได้ข้อมูลมา
หน้าที่ของอาจารย์จริงๆคงเป็นการกระตุ่นให้เด็กได้ใช้ความคิด ทำให้สงสัย ก่อให้เกิดกระบวนการเสาะหาความรู้เพิ่ม
ไม่ว่าจะเป็นจากการสอบถาม ปรึกษา พูดคุย อ่าน ค้นคว้า หรือแม้แต่คิดตีความเอง
แต่หากนักเรียนเก็บความสงสัยไว้แล้วไม่ทำอะไรกับมันต่อ
การศึกษานั้นก็คงสูญเปล่า
Note:
- เราเรียนสาขาวิชา New Technology Venture ตอนนี้มีคนเรียนราวๆ 5 คน ... อาจารย์บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีสาขานี้อยู่ในวิทยาลัย
Update:
- แถมรูปถ่ายตอนกลางคืนของลานจอดรถที่วิทยาลัยให้ดูเล่น
No comments:
Post a Comment